ปฏิจจสมุปบาท
หมายถึง สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น,
การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้
๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา - เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณี - เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ - เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ - เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส - เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา - เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
๗. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา - เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ - เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว - เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ - เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ - เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาสมฺภวนฺติ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
- - -
วิภังคสูตร
[๔] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ...
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกปฏิจจสมุปบาทแก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟังปฏิจจสมุปบาทนั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด
เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
[๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ปฏิจจสมุปบาท เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกข์โทมนัสและอุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ ชราและมรณะ เป็นไฉน
ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว
ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์
ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชรา
ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน
ความทำลาย ความอันตรธาน มฤตยู ความตาย กาลกิริยา
ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์
จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่ามรณะ
ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ ฯ
[๗] ก็ ชาติ เป็นไฉน
ความเกิด ความบังเกิด
ความหยั่งลงเกิด (คือเป็นชลาพุชะหรืออัณฑชปฏิสนธิ)
เกิดจำเพาะ (คือเป็นสังเสทชปฏิสนธิ)
ความปรากฏแห่งขันธ์ (อุปปาติกปฏิสนธิ)
ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
นี้เรียกว่าชาติ ฯ
[๘] ก็ ภพ เป็นไฉน
ภพ ๓ เหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
นี้เรียกว่าภพ ฯ
[๙] ก็ อุปาทาน เป็นไฉน
อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ
กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
นี้เรียกว่า อุปาทาน ฯ
[๑๐] ก็ ตัณหา เป็นไฉน
ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้คือ
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา
รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
นี้เรียกว่าตัณหา ฯ
[๑๑] ก็ เวทนา เป็นไฉน
เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้คือ
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา
นี้เรียกว่าเวทนา ฯ
[๑๒] ก็ ผัสสะ เป็นไฉน
ผัสสะ ๖ หมวดเหล่านี้คือ
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
นี้เรียกว่าผัสสะ ฯ
[๑๓] ก็ สฬายตนะ เป็นไฉน
อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นี้เรียกว่าสฬายตนะ ฯ
[๑๔] ก็ นามรูป เป็นไฉน
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป
นามและรูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูป ฯ
[๑๕] ก็ วิญญาณ เป็นไฉน
วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
นี้เรียกว่าวิญญาณ ฯ
[๑๖] ก็ สังขาร เป็นไฉน
สังขาร ๓ เหล่านี้คือ
กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร
นี้เรียกว่าสังขาร ฯ
[๑๗] ก็ อวิชชา เป็นไฉน
ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์
ความไม่รู้ในความดับทุกข์
ความไม่รู้ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์
นี้เรียกว่าอวิชชา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...
ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๑๘] ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ
สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ...
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
( พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
อภิสมัยสังยุตต์ พุทธวรรคที่ ๑ สูตรที่ ๒)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น