ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง "การตาย" ว่า มี ๒ ชนิด
๑. การตายในภาษาคน คือการสิ้นชีวิต หรือการแตกดับของร่างกาย
๒. การตายในภาษาธรรม คือ การตายจากกิเลส การตายจาก "ตัวกู - ของก"
ท่านเรียก " การตายโดยไม่อยากตาย "ว่าเป็น "การตายโหง" ด้วย เพราะเป็นการตายที่ยังดิ้นรนต่อสู้อยากมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตก็ถูกดับไป
ผู้ที่ "ตายไม่เป็น" จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า การตายอย่างไรดีที่สุด เพราะไม่ได้เตรียมตัวตายไว้ก่อน นั่นคือไม่ได้ "ตาย ก่อนตาย" นั่นเอง
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าตายเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ นั่นคือ ตายจากกิเลส ตายจากตัวกู - ของกู
การตายให้เป็น คือการให้ร่างกายมันแตกดับไปในลักษณะที่เหมาะสม แม้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ทำตามอย่างท่านได้ เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องตายนั้น เมื่อควรตายก็ให้มันตายอย่างที่เรียกว่า ปลงสังขาร ปลงอายุสังขาร จะต้องไปดิ้นรนต่อสู้ให้ยุ่งยากลำบากไปทำไม
เรื่องผ่าตัดเอาหัวใจไปใส่ใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ของคนที่ไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ก็ต้อง "ตายโหง" อยู่ดี คือ ตายด้วยจิตใจที่ไม่อยากตาย เรียกว่า "ตายโหง" หมด
อย่าต้องตายโดยที่ไม่อยากตาย อย่าเป็นคนโง่ เป็นคนไม่รู้ว่าธรรมชาติต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันยุ่งยากมากนัก เมื่อควรตายก็ต้องตาย เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่า สามเดือนจากวันนี้จักปรินิพพาน หมายความว่า ให้ร่างกายแตกดับไปตามธรรมชาติ ส่วนนิพพานของกิเลส นิพพานเสร็จแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ เมื่อเรามีธรรมะในเรื่องนี้ ก็ไม่มีการตายโหง
แล้วท่านพุทธทาสยังสอนว่า
"ความตายในภาษาคน แก้ได้ด้วยความตายในภาษาธรรม หนามยอกก็เอาหนามบ่งได้ แต่ไม่ใช่หนามอันเดียวกัน แม้เป็นหนามชนิดเดียวกัน จากต้นไม้ต้นเดียวกัน อันหนึ่งทำหน้าที่ยอก อีกอันหนึ่งทำหน้าที่บ่ง"
นั่นคือ การตายในภาษาธรรม (ตายจากกิเลส) จะช่วยกำจัด (บ่งหนาม) ความกลัวตายในทางร่างกาย ทำให้การตายในทางร่างกาย (การสิ้นชีวิต) หมดความหมายอีกต่อไป
"พระอรหันต์ไม่กลัวตาย เพราะหมดตัณหาอุปาทาน ส่วนพวกอันธพาลไม่กลัวตาย เพราะตัณหาอุปาทานเดือดจัด ระวังอย่าเอาไปปนกัน มันคนละอย่าง....ความกลัวตายในภาษาโลก (เช่น กลัวอดตาย กลัวถูกฆ่าตาย) นำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรม ความหมดศีลธรรม ความวินาศในที่สุด เพราะเห็นแค่ว่ากูไม่ตายก็แล้วกัน มันก็ทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีศีลธรรม ความกลัวตายในภาษาธรรม เช่น มรณสติ ทำให้มีการเจริญสติ เพื่อความไม่ประมาท จะได้ทำหน้าที่ที่ต้องทำเสียโดยเร็ว...."
ท่านพุทธทาสได้เล่าถึง วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท ไว้ดังนี้
สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็ก ๆ โยมแม่เล่าให้ฟังถึงการตายของตา ตาได้ตายอย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัทตามประเพณีวิธีของพุทธบริษัท ตาเป็นคนแก่อายุมากแล้ว แต่ไม่ใช่แก่หง่อม เมื่อถึงเวลาที่จะตาย บอกว่า ไม่กินอาหารแล้ว กินแต่น้ำและยา ต่อมาบอกว่า ยาก็ไม่กินแล้ว กินแต่น้ำ พอถึงวันที่จะตาย แกนั่งพูดกับลูกหลานรวมทั้งโยมแม่ด้วยถึงเรื่องที่จะตาย แล้วก็ไล่คนที่ร้องไห้ออกไป คงเหลืออยู่คนเดียวที่กล้า ที่บังคับตัวเองได้ ที่ไม่ร้องไห้ แล้วจึงพูดตามที่พูด ซึ่งก็หลายนาทีอยู่เหมือนกันแล้วจึงขอนิ่ง แล้วขอตาย
เพราะถึงเวลาจะตาย มีคนมาทุบหน้าอก ใส่ท่อหายใจ ใส่สายโน่นสายนี่ ทำให้เกิด "เวทนา" แก่กล้าอย่างนั้น ย่อมยากที่จะตั้งสติและสงบใจได้
อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสได้สอนไว้ด้วยว่า จะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะตายดีแล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็น "ตัวกู - ของกู" ให้หมดสิ้น แล้วจะตายดีได้ ดังนี้
อย่าเข้าใจว่าต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้
ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง
ระวังให้ดีดีนาทีทอง คอยจดจ้องให้ตรงจุดหยุดให้ทัน
ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา
ตกกระไดพลอยโจนให้ดีดี จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า
สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา ก็ " ดับเรา " ดับตนดลนิพพาน
ท่านพุทธทาสได้วางแผนการตายของท่านและเหตุการณ์หลังตายของท่านไว้เป็นอย่างดี ตามแบบฉบับของวัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็มี "มารผจญ" จนการตายของท่านต้องผิดธรรมดา - ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของท่าน ดังที่ท่านได้ปลงสังขารไว้
อย่างไรก็ตาม เหล่าศิษย์และญาติโยมของท่านสามารถทำให้การปลงศาของท่านเป็นไปอย่างเรียบ ง่ายและไม่ยืดเยื้อดังที่ท่านปรารถนา ทำให้ "เหตุการณ์หลังตาย" ของท่านเป็นที่ชื่นชมกันโดยทั่วไป สมกับความเป็น "พุทธทาส"โดยแท้.
ที่มา..http://www.geocities.ws/gogfox/sunt.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น