จาก หนังสือ ทางสายเข้าสู่พระนิพพาน
โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว วันนี้เราก็มาทบทวนความรู้เดิมกันอีกและก็จะต่อไปถึงอรหันตมรรคเบื้องต้น
สำหรับการศึกษาเดิม ในอันดับแรกเราศึกษาเพื่อให้อารมณ์เป็นสมาธิ คือ พื้นฐานเดิมมีการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เพราะว่า อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ละเอียด แล้วก็เป็นพื้นฐานใหญ่สำหรับกรรมฐานทั้งหมด อันนี้เราสามารถทรงได้กี่นาที จิตจะทรงอยู่ได้ตามลำดับ ต้องทบทวนต้นไว้เสมอ
ประการที่สอง องค์แห่งพระโสดาบัน คือ พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์เป็นสำคัญ และมีความเคารพในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นองค์จุดใหญ่ของพระโสดาบัน เราทำได้แล้วหรือยัง อารมณ์ทรงอยู่ได้แล้วหรือยัง
ทีนี้สำหรับพระโสดาบันถ้าจะกล่าวโดยจริยาก็ หนึ่ง มีมรณานุสติกรรมฐานนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ทรงได้ไหม ประการที่สอง มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ เทวตานุสติ มีพรหมวิหาร 4 และก็มีหิริโอตตัปปะ มีอุปสมานุสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ อันนี้เราทรงได้แค่ไหน ทรงได้ครบถ้วนหรือไม่
นี่ทวนกำลังใจอยู่เสมอ อย่าทำใจให้มันลอย และอย่าปล่อยอารมณ์ฟุ้งซ่านน้อมไปในด้านของอกุศล จงคิดว่า ถ้าเราไม่สามารถจะทรงความเป็นพระโสดาบันไว้ได้ เตือนใจไว้เสมอว่าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วก็เสียชีวิตชีวิตเกิด เพราะว่าเราจะต้องทุกขเวทนาไปอีกนับกัปไม่ถ้วน ถ้าทรงความเป็นพระโสดาบันไว้ได้เราก้จะมีการเกิดเพียงแค่มนุษย์กับเทวดา หรือ พรหม เป็นแดนของความสุขและก็เป็นมนุษย์โดยการจำกัดชาติ ไม่ช้าก็เป็นอรหัตผล นี่ถ้าเราทรงอารมณ์อย่างนี้ได้
ต่อไปก็คลำความเป็นพระสกิทาคามี สกิทาคามีมีจริตทั้งหมดเหมือนกับพระโสดาบัน แต่ทว่าระงับความโลภด้วยการมีจาคานุสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ แล้วปฏิบัติด้วย และก็ระงับความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร 4 เข้มข้นจนถึงขั้นอภัยทาน คือ ให้อภัยกับคนที่มีความผิด ไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่ดึงเอาไว้นาน ๆ เรียกว่า ไม่มีความพยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญบุคคลนั้น บรรเทาความหลงไว้ได้มากกว่าพระโสดาบัน นอกจากว่าจะนึกถึงความตายเป็นอารมณ์แล้ว ก็เห็นโทษของการเกิด เห็นโทษของการมีขันธ์ 5 ว่ามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ นี่เป็นอาการของพระสกิทาคามี เราทำได้แล้วหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์พระนิพพานเรามีความจับแน่นหนาขึ้น
ทีนี้ต่อไป สำหรับพระอนาคามีเราศึกษากันมาแล้ว พระอนาคามีตัดสังโยชน์ได้อีก 2 ตัดได้เด็ดขาด นั่นก็คือ กามฉันทะ เห็นโทษของกามคุณ อาการเสวยกามคุณเป็นไปด้วยความทุกข์ เป็นปัจจัยของความทุกข์ซึ่งเราจะเห็นได้ง่าย ๆ ที่คนแต่งงานเขาไม่มีอะไรเป็นสุข อยู่คนเดียวเป็นสุขดีกว่า ครองคู่เข้ามาต้องเอาใจคนอีกพวกหนึ่ง ถ้ามีลูกมีหลานมีเหลนขึ้นมา ก็ทุกข์มากหนึกขึ้น และกามคุณไม่ได้ให้คุณแต่ประการใด ดึงมาซึ่งความทุกข์อยู่ตลอดเวลา มีความใคร่ไม่มีที่สิ้นสุด เราคนเดียวมีความปรารถนาวัตถุชิ้นเดียว ถ้าอยู่สองคนครองคู่ปรารถนามากขึ้น ต้องลำบากมากขึ้น เป็นปัจจัยของความทุกข์
นี่เราพิจารณาแล้วก็เพิ่มกายคตานุสติกับอสุภสัญญา คือ อสุภกรรมฐานมากขึ้น จนกระทั่งจิตตัดกามารมณ์ได้เด็ดขาด โดยมาเทียบกับร่างกาย ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายเขาก็ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา มันเป็นเรือนร่างที่จิตอาศัยชั่วคราว ระงับหรือว่าตัดกำหนัดในเพศ หรือ ว่าในสีสันวรรณะเสียให้หมด ไม่มีความหลง ไม่มีความปรารถนาในสีสันวรรณะและเพศใด ๆ จนกระทั่งความรู้สึกในกามารมณ์หายไป เหือดแห้งสนิท
สังโยชน์ข้อที่ 2 คือ ปฏิฆะ สำหรับพระอนาคามีมีความโกรธเบาบาง ความโกรธเกิดขึ้นให้อภัย นี่แสดงว่าความโกรธเบา สำหรับพระอนาคามีไม่โกรธเลย ตัดอารมณ์ปฏิฆะ คือ การกระทบใจหายไป มีแต่ความเมตตาปราณีเข้าสู่ใจ สำหรับพระสกิทาคามีเกิดเป็นคนอีกหนเดียวก็ไปพระนิพพาน พระอนาคามีตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วนิพพานบนนั้น นี่ความรู้เดิม เราศึกษากันมาได้ถึงเพียงนี้เราทำได้แค่ไหน วัดกำลังใจให้เป็นปกติ
ทีนี้สำหรับพระอรหันต์ ความจริงถ้าเป็นพระอนาคามีแล้วเป็นพระอรหันต์ไม่ยาก เพราะว่ากิเลสหยาบทั้งหมดเราทำลายลงไปเสียแล้วจากพระอนาคามี สำหรับพระอรหันต์ก็ หนึ่ง เราไม่เมาในรูปฌาน สอง เราไม่เมาในอรูปฌาน นี่หมายความว่าเราพอใจในรูปฌานและอรูปฌานเหมือนกัน ต้องทรงไว้เป็นปกติแต่จิตของเราไม่ยับยั้งไว้เพียงนี้ ว่ารูปฌานดี หรืออรูปฌานดี ดีเกินไปกว่าที่เรา ไม่ต้องการอย่างอื่น มีความรู้สึกอยู่เสมอว่ารูปฌานและอรูปฌาน เป็นกำลังใหญ่สำหรับจิต ที่จะกดกิเลสให้มันจมไปแต่มันยังฆ่าไม่ตาย ทำใจให้มั่นคง มีอารมณ์หนัก อารมณ์ตอนนี้ยังหนักอยู่ มีความมั่นคง จับจิตแน่น เราจะสังเกตได้ ท่าที่ทรงอยู่แค่นี้หรือต่ำไปกว่านี้ จะพูดน้อย เคลื่อนไหวน้อย ระมัดระวังตัวมาก
ทีนี้เมื่อเห็นว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นของดีก็จริงแหล่ แต่ทว่ายังไม่ถึงที่สิ้นสุดที่เราจะต้องปฏิบัติ เราก็ไม่มีความประมาท ก้าวต่อไปตอนนี้ความจริงระวังตัวนะ เราอาจจะเผลอว่าเราเป็นอรหันต์ไปเสียก็ได้ เพราะอารมณ์ของเรามันอยากอยู่แล้ว ในเมื่อเราทำลายความหยาบของจิตได้ จิตมันเบามีความปลอดโปร่งมีความเป็นสุข เพราะอารมณ์แห่งการรักในเพศ รักสีสันวรรณะไม่มี อารมณ์แห่งความโกรธไม่มี เราไม่มีความประมาทในชีวิต เราอาจจะคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ แต่ยัง นี่เราต้องพิจารณาต่อไปว่าการไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌานนี้เป็นของไม่ยาก เป็นแต่เพียงใช้กำลังจิตก้าวไปหน่อยเดียวก็ใช้ได้ ว่าเราไม่ประมาทในชีวิตคิดว่าตอนนี้ยังดีไม่พอ
ทีนี้สำหรับการก้าวต่อไปนี่เป็นของหนัก นั้นก็คือ การตัดมานะ ความถือตัวถือตน การที่จะเข้าไปตัดมานะ เขาตัดกันตรงไหน ความจริงกิเลสทั้งหมดตัดตัวเดียวที่สักกายทิฏฐิ เห็น ว่าอัตภาพร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเสียอย่างเดียว เราก็หมดความรู้สึกที่จะถือตัวถือตน เราถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขาบ้าง เราเสมอเขาบ้าง เราเลวกว่าเขาบ้าง เอาอะไรมาเป็นเครื่องวัด เอาฐานะ เอาศักดิ์ศรี เอาวิชาความรู้ เอาสภาวะที่คงอยู่เป็นเครื่องเหยียดหยามกันอย่างงั้นรึ มันก็ผิดทั้งนั้น อะไรมันจะดี ขันธ์ 5 ของเรากับขันธ์ 5 ของเขาน่ะ ดูซิว่าอะไรมันจะดีกว่ากัน เขามีอาการ 32 เราก็มีอาการ 32 มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นเหมือนกัน มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางเหมือนกัน ก็มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน นี่เป็นจุดแรกที่เราจะพึงมองเห็น
แล้วเราก็ลองไปนั่งดูวัดดูว่า เราดีกว่าเขา ชั่วกว่าเขา มันตรงไหน เอาเงินเอาทองที่มีมากกว่ากันมาเป็นเครื่องวัดยังงั้นรึ แล้วเงินทองห้ามความแก่ ความป่วย ความตาย ห้ามทุกข์ได้ไหม มันก็ไม่ได้ เป็นอันว่าเราจะมีทรัพย์สินสักเท่าใดก็ตามที เราก็ต้องแก่ ต้องป่วย ต้องตาย มีทุกข์เหมือนชาวบ้าน แล้วเอาอะไรมาดีกว่าเขาล่ะ
ทีนี้หากเราจะว่ามียศฐาบรรดาศักดิ์ ไอ้ยศฐาบรรดาศักดิ์มันช่วยอะไรให้เราดีขึ้นบ้าง ช่วยไม่ให้เราแก่ได้ไหม ช่วยไม่ให้เราตายได้ไหม ช่วยไม่ให้เราป่วยได้ไหม ช่วยไม่ให้เรากระทบกระทั่งกับกฎของธรรมดา คือ โลกธรรมได้หรือเปล่า ไม่มี ไม่ได้อีก มันห้ามไม่ได้
ทีนี้เอาตระกูลมาเป็นเครื่องวัด เราเกิดเป็นตระกูลของเศรษฐีบ้าง เกิดเป็นตระกูลของคหบดีบ้าง เกิดเป็นตระกูลของกษัตริย์บ้าง เกิดเป็นตระกูลของขุนนางผู้ใหญ่บ้าง แล้วต้นตระกูลของเราดีกว่าชาวบ้านอย่างงั้นรึ ต้นตระกูลของชาวบ้านเขาตายเป็นแถว ๆ ต้นตระกูลของเราตายบ้างหรือเปล่า ต้นตระกูลของชาวบ้านเขามีความป่วยไข้ไม่สบาย ต้นตระกูลของเราความป่วยไข้ไม่สบายไหม ต้นตระกูลของเขาแก่ ต้นตระกูลของเราแก่ไหม มันก็เหมือนกันอีก
ในเมื่อสภาวะมันเหมือนกัน ก็มองเข้าไปดูอีกที ว่าจิตที่เกาะขันธ์ 5 จิตที่มีมานะทิฐิเป็นสำคัญ ถือว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขาน่ะ มันเป็นจิตดีหรือจิตทราม เราก็จะเห็นว่าไอ้การมานะตัวนี้สร้างอารมณ์จิตให้เป็นทุกข์ ถ้าเราคิดว่าเราดีกว่าเขา เราก็มีเพื่อนน้อย แล้วเพราะอะไร เพราะคนที่เราเห็นว่าเขาเลวกว่าเรา ต่ำต้อยกว่าเรา เราก็คบเขาไม่ได้ ในเมื่อมีคนประเภทนั้นเขามาใจเราก็เกิดความไม่สบาย ไอ้การไม่สบายแบบนี้ เพราะรังเกียจเขา จิตมันเป็นสุขหรือ เป็นอันว่าเราหาเพื่อนยาก เมื่อมีเพื่อนน้อยความทุกข์มันก็มาก ความชื่นอกชื่นใจมันก็ไม่มีในเมื่อเวลาเข้าไปสัมผัสกับเพื่อน
ทีนี้ถ้าเราเห็นว่าเราเสมอเขา เราเท่ากับเขา มันเท่ากันตรงไหน ไอ้คนเท่ากันจริง ๆ น่ะมันจะต้องเกิดเสมอกัน แก่ด้วยกันพร้อม ๆ กัน ป่วยพร้อม ๆ กัน หิวพร้อม ๆ กัน ตายพร้อม ๆ แล้วความรู้สึกต่าง ๆ มันต้องมีความสม่ำเสมอกันหมด เขาสุขเราสุข เขาทุกข์เราทุกข์ แต่อาการอย่างนี้มันมีสำหรับเรา มีกับเขาสม่ำเสมอกันไหม ไม่มี ต่างตนต่างมีความรู้สึก ต่างคนต่างปรากฏทางกายเสื่อมโทรมไม่เสมอกัน เกิดวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่ทว่าเรากับเขามีสภาวะต่างกัน เราหิวเขายังไม่หิว เราป่วย เขายังไม่ป่วย เรามีความทุกข์ เขายังมีความสุข นี่มันไม่เสมอกัน แล้วเราจะไปตั้งหน้าตั้งตาคิดว่าเราเสมอเขาได้ยังไง
นี่ตัวการที่คิดว่าเราเสมอกับเขา มันเป็นตัวทะเยอทะยาน การที่คิดว่าเราดีกว่าเขา เป็นการข่มขู่ ทะเยอทะยาน คิดทะนงตนว่าตนเป็นใหญ่ ถ้าเราคิดว่าเราเสมอเขา มันก็เสียอีก เพราะ บางคนเขามีจริยาเลว เราคิดว่าเรากับเขาเสมอกัน ก็ต้องพยายามเลวตามเขา ความเลวมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข
ทีนี้ถ้าหากว่าเขาดีกว่าเรา เราดีไม่เท่าเขา แต่เราคิดว่าเราดีเท่าเขา ก็เกิดความประมาท ประมาทคืออะไร การทะเยอทะยานคิดว่าเราดี ก็เป็นการทำลายความดีที่เราจะพึงแสวงหาต่อไป เป็นอันว่าการที่คิดว่าเราเสมอเขา มันก็เป็นส่วนแห่งความเลว ทีนี้ต่อมาอีกข้อหนึ่ง เราคิดว่าเราเลวกว่าเขา ตอนนี้ก็เป็นการทำลายความดีของตนเอง จิตใจมันก็มีความสุขไม่ได้
เป็นอันว่า การถือตัวถือตนว่าเราเสมอเขาก็ดี เราดีกว่าเขาก็ดี เราเลวกว่าเขาก็ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์
ทีนี้ เราจะวางใจยังไงถึงจะสบาย อาการที่เราจะวางใจในตอนนี้ ก็วางใจแต่เพียงว่า "ชราปิ ทุกขา" ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัส สุปายาส ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากการเกิด แล้วการเกิดนี่มันมาจากไหน
การเกิดมาจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม เป็นอันว่า วางใจเป็นกลาง ใคร จะดีใครจะชั่วยังไงก็ช่าง เราทำใจไว้เสมอ เห็นคนใดเขาดี ก็ยินดีกับเขา เห็นคนใดเขามีความสม่ำเสมอกับเราโดยธรรมเราก็พอใจ เห็นใครเขาเลวกว่าเรา เราก็แสดงธรรมสังเวช ว่าเขาไม่น่าจะประมาทในชีวิต ควรจะปรับปรุงตัว ควรจะคิดปรับปรุงใจให้มีความดี เป็นอันว่าเราจะไม่เหยียดหยามใคร เราจะไม่ตีเสมอใคร เราจะไม่ข่มขู่ใคร รักษากำลังใจของเราให้เป็นสุข
ถ้าอารมณ์อย่างนี้ไม่มี มีอารมณ์อย่างเดียว ที่เราเรียกกันว่า อุเบกขา วางเฉย เขาเรียกกันว่า อัพยากฤต คำว่า อุเบกขา วางเฉยตัวนี้ มันไม่ไปเกี่ยวข้องกับความสุข แลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความทุกข์ มันเฉยเป็นธรรมดา ใครเขาจะยังไงก็ช่าง ปรับปรุงใจของเราให้มีความสุข เห็นคนดีเข้ามา เห็นคนเสมอเรามา เห็นใจของเราให้มีความสุข เห็นคนดีเข้ามา เห็นคนเสมอเรามา เห็นคนเลวเข้ามา เราก็มีจิตใจชื่นบานตลอดเวลา ไม่เหยียด ไม่หยาม ไม่ตีเสมอ ไม่ข่มขู่ ทำใจสบายเป็นกลาง ๆ ถ้าทำใจอย่างนี้ ตัวมานะทิฐิมันก็ไม่มี
มานะทิฐินี้เป็นปัจจัยของความทุกข์ ระวังให้ดี มันจะดึงเราให้จมไปในอบายภูมิได้ แต่หากว่าเป็นพระอนาคามีแล้ว ตัวมานะทิฐิมันนิดเดียว ยังมีความรู้สึกอยู่ว่า แหม นี่เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าจิตยังประกอบไปด้วยความเมตตาปราณีมาก การทะนงตนเหมือนคนที่มีกิเลสหนาไม่มี นี่เป็นอันว่าพระอนาคามีมีมานะ อยู่นิดหนึ่งไม่ใช่หยาบ
อย่างที่พูดเมื่อตะกี้นี้ ที่พูดมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ก็หมายความว่าเป็นมานะของคนที่มีกิเลสหนาของคน เป็นปุถุชน สำหรับพระอนาคามีมีพรหมวิหาร 4 ครบถ้วนแล้ว เวลานี้เราก้าวไปสู่ความเป็นพระอรหัตมรรค ทีนี้ตัวมานะ ถือตัวถือตนนั้นมันมีอยู่นิดเดียว ยังมีความรู้สึกอยู่ว่าเราเป็นกษัตริย์ มีความรู้สึกว่าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ มีความรู้สึกอยู่ว่าเรามีฐานะดี มีฐานะจนอยู่ในเพศอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าอารมณ์อย่างนี้มันมีนิด ๆ หน่อย ๆ เป็นเพียงแค่ อนุสัยเท่านั้น ไม่มีปัจจัยถึงให้เกิดโทษ ไม่มีปัจจัยถึงให้เกิดทุกข์หนัก แต่ว่ามันก็เป็นอารมณ์ว่าง ยังไม่สามารถให้เราก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานในชาตินี้ได้
ฉะนั้นจึงวางอารมณ์เสีย ใครเขาจะยังไงก็ช่าง เขาจะดีเขาจะชั่ว เขาจะเลว เขาจะยังไงก็ตามเถอะ ไม่สนใจ เห็นหน้าคน เราคิดไว้เสมอว่าเป็นคนที่เราควรแก่การปราณี เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปราณี พยายามไม่ถือตน คนและสัตว์ก็ตาม ถือว่าเป็นธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็นสังขารุเปกขาญาณ ในวิปัสสนาญาณ อย่างนี้ การระงับการถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก
อย่ามองคนด้วยฐานะ อย่ามองคนด้วยศักดิ์ศรี อย่ามองคนด้วยความรู้ความสามารถ มองคนแต่เพียงว่าสภาพของเขาเป็นวัตถุเหมือนสภาพของเรา จิต ใจของเราพร้อมในการเมตตาปราณี ไม่ถือตน เขาจะมาในฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันหมด การกำหนดอารมณ์อย่างนี้ เราสามารถจะกำจัดตัวมานะถือตัวถือตนเสียได้ อย่างนี้เรียกว่า อรหัตมรรค
ตอนนี้ อรหัตมรรคนี่มันยังไม่หมดอุทธัจจะตัวสำคัญ คำว่า อุทธัจจะ แปลว่า อารมณ์ฟุ้งซ่าน ยัง มีความต้องการนอกเหนือไปจากพระนิพพาน นั่นก็หมายความว่า รู้สึกว่ามีอารมณ์เป็นสุข มีอารมณ์นี่บางครั้งมันเกิดความพอใจ คิดว่านี่เราจะทำไปทำไม ดิ้นรนไปทำไม ในเมื่อเราเป็นพระอนาคามีแล้ว ตายเป็นเทวดา หรือพรหมเราก็นิพพานบนนั้น บางครั้งอารมณ์ประมาทอยู่นิดหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้ประมาทในด้านของอกุศล ประมาทในการยับยั้งชั่งจิตของตนว่า ทำไปก็เหนื่อยหน่ายเปล่า ๆ ใจเราก็สบายแล้ว เราตายเป็นพรหม เป็นเทวดา แล้วก็ไปพระนิพพาน เรายับยั้งความดีไว้แค่นี้ดีกระมัง บางครั้งมันมีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าหากจะกล่าวว่าเป็นโทษรึ ไอ้โทษทัณฑ์น่ะไม่เป็น แต่ว่าเป็นการกักตัวเองไว้ในชั่วขณะหนึ่ง
ทีนี้ ทำยังไง เราก็ตั้งใจไว้โดยเฉพาะ รักษาอารมณ์อุปสมานุสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ว่า เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ โดยสรุปตัวท้ายเสียทันที คือ ตัดอวิชชา ความโง่ มานั่งใคร่ครวญว่า มนุษย์โลก ก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นดินแดนที่ไม่พ้นความทุกข์ ความทุกข์มันมีกับเราได้ทุกขณะจิต เราเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ มีความไม่สบาย มีความตายไปในที่สุด มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของชาวโลก เรื่องโลกมนุษย์ไม่ดี เทวโลกกับพรหมโลกก็พักความดีอยู่ชั่วคราว ไม่มีความหมาย ใจเราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ถ้าจิตถึงตอนนี้ละบรรดาท่านพุทธบริษัท จิตจะเบามาก เหมือนกับมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้อะไรเลย จิต มันสบาย ๆ กำลังฌานที่เราเคยมั่นคง กดอารมณ์นิ่ง มีความหนัก มันจะสลายตัวไป แต่ว่าจิตใจของเรามีความสุข จะกระทบกระทั่งอาการอย่างใด อย่างหนึ่งก็ตามที ไม่มีความรู้สึกว่ามันจะมีความลำบาก ไม่มีอะไรที่จะมีความหนัก ไม่มีอะไรที่จะทำจิตใจของเราให้เร่าร้อน ได้ยินเสียงคนด่าก็สบายใจ คิดว่าเขาไม่น่าจะทำความชั่ว เป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นใครเขาสรรเสริญเรา ก็ไม่มีความสุขใด ๆ ไม่สั่นคลอน รู้สึกว่าความสรรเสริญไม่มีความหมาย เราดีขึ้นมาได้ไม่ใช่อาศัยการสรรเสริญ หรือว่าถ้าเราไม่ดี ก็ไม่ใช่อาศัยการแช่งด่าของบุคคลใด ความดีจะมีขึ้นมาได้ หรือ ความไม่ดีจะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยเราปฏิบัติเท่านั้น ถ้าจิตใจของบรรดาท่าพุทธบริษัททรงได้อย่างนี้ เรียกว่า อรหัตผล
เอาละ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ต่อจากนี้ไปกาลเวลาก็สมควรแล้ว ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา
ที่มา : www.luangporruesi.com/299.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น