เรื่อง กรรมอันเป็นสมบัติแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย
แสดงโดยองค์หลวงพ่อครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน
สำนักปฏิบัติอัญญาวิโมกข์โพธิรังสี(วัดป่ากล้วยไม้ดิน) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
กัลยาณมิตรเป็นเครื่องอยู่ของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ไม่ใช่อย่างนั้น กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
เพื่อนที่ดีเรียกว่า กัลยาณมิตร เพื่อนที่ไม่ดีเรียกว่า ปาปณมิตร ปาปะ แปลว่าบาป กัลยาณ แปลว่า ดี
เราก็ต้องดูรอบข้างก่อน เรามีเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรหรือปาปณมิตร อย่างวันนี้ที่เรามาที่นี่มีการชักชวนกันบ้าง
รู้ข่าวทราบข่าวมาจากคนอื่นบ้าง คนที่เรารู้ข่าวจากเขา คนที่บอก คนที่บอกเป็นกัลยาณมิตร
คนที่มาแล้วรู้ว่าเขามาก็อยากมาบ้าง คนที่เห็นเขามาแล้วก็อยากมาคนนั้นก็เป็นกัลยาณมิตร
พอเรามานั่งที่นี่ครูบาอาจารย์ก็เป็นกัลยาณมิตร เมื่อเราฟังธรรม ธรรมนั้นก็เป็นกัลลยาณมิตร
ฉะนั้นกัลยาณมิตรไม่ได้เป็นเฉพาะว่าเพื่อนที่เป็นบุคคลอย่างเดียว อรรถธรรมก็เป็นกัลยาณมิตรเช่นกัน
ขอยกเอาคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม
ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ องค์ท่านได้ยกข้อธรรมไว้ว่า
กรรมอันเป็นสมบัติแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย
กายซ้อนซ้ำซากจำเจเป็นวัฏฏะ
กรรมอันทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
กรรมนั้นเป็นกรรมดี เป็นกรรมที่สัตบุรุษชื่นชมยกย่อง
กรรมอันใดทำแล้วเดือดร้อนภายหลัง
กรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว มีผลเผ็ดร้อนมีทุกข์มาก
กรรมอันใดไปสู่มรรคนิโรธ ความดับทุกข์
กรรมนั้นเป็นกรรมเหนือกรรม
นี่คือพระธรรมคำสอนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังษี จะขอแยกธรรมเป็นส่วน ๆ ไป และอธิบายเป็นส่วน ๆ ไป
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
" กรรมอันเป็นสมบัติแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย "
คำว่ากรรมอันเป็นสมบัติอันนี้ มนุษย์เราสัตว์โลกเราทั้งหลายที่เกิดมานี้ย่อมมีสมบัติอันเดียว คือการกระทำที่ทำไปแล้ว
และการกระทำที่กำลังทำอยู่เป็นสมบัติ เป็นผลงานของเรา เป็นผลวิจัยของเรา เป็นวิทยานิพนธ์ของเรา
ซึ่งการกระทำของเราทั้งหมด เราผู้เป็นผู้กระทำกรรมต้องรับผิดชอบ จะดีหรือชั่วก็ตาม เราต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
จะเย็นหรือร้อน ไม่มีใครแบ่งเบากรรม ชดใช้แทนกันได้เลย จึงได้วิบากกรรมนั้นเป็นสมบัติ
บ้าน รถ ที่ดิน ลูก สามี ภรรยา รวมถึงเงินทรัพย์สมบัติแก้ว แหวน เงิน ทอง นั้นยังไม่ใช่สมบัติที่แท้จริง
เพราะสมบัติเหล่านี้ยังฉิบหาย ยังอันตทาน ยังพินาศ ยังวอดวายได้ แต่กรรมคือการกระทำ
ไม่มีวอดวาย ไม่มีพินาศ มีแต่ทำให้สัตว์ผู้กระทำกรรมนั้นพินาศ วอดวาย ฉิบหาย บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ ไม่บริสุทธิ์เพราะอาศัยบุคคลอื่น
ไม่ใช่อาศัยวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วจะทำให้ใจบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นเราเป็นผู้กระทำเอง แม้ความชั่วก็ตามไม่มีใครทำให้เรา
วัตถุสิ่งของบุคคลอื่นไม่สามารถทำให้เราทำชั่วได้ ความชั่วนั้นเราเป็นผู้กระทำเอง ใครอื่นจะทำให้เราชั่วนั้นไม่มี
ความเศร้าหมองทั้งหลายของเราไม่ได้เกิดขึ้นจากวัตถุสิ่งของหรือบุคคลข้างของคนรอบข้าง ความเศร้าหมองไม่ได้เกิดจากสิ่งอื่น
แต่ความเศร้าหมองเกิดจากตัวเราเป็นผู้กระทำ ไม่มีใครทำให้เรา เราทำของเราเอง ไม่มีใครทำให้เราโกรธ เราโกรธของเราเอง
ไม่มีใครทำให้เราเกลียด เราเกลียดของเราเอง ไม่มีใครทำให้เรารัก เรารักของเราเอง ไม่มีใครทำให้เราหลง เราหลงของเราเอง
ไม่มีใครทำให้เราตาย เราตายของเราเอง ไม่มีใครทำให้เราเกิด เราเกิดของเราเอง การเกิดเกิดจากรรม กรรมเป็นสิ่งที่ทำไปแล้ว
ผลของกรรมจึงทำให้เราเกิดมา ถ้าว่ากันอย่างหยาบ ๆ เพราะว่ามีบิดา มารดาเป็นแดนเกิด
มีขนม นม เนย และน้ำ เป็นที่อาศัยให้เจริญเติบโต แต่สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด กรรมเป็นผู้ผลิตบิดา มารดา
กรรมเป็นผู้ผลิตให้ต้องมีข้าว น้ำ ขนม นม เนย กรรมเป็นผู้ผลิตอายุไขย กรรมเป็นผู้ผลิตความป่วยไข้ไม่สบาย
กรรมเป็นผู้ผลิตความพลัดพราก ความล้มหายตายจาก ความเศร้าโศก ความเสียใจ ล้วนแล้วมาจากกรรมทั้งนั้น
สมบัติอันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทำไปแล้วดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลใดกำลังทำกรรมที่ชั่วอยู่จงหยุดการกระทำนั้นเสีย
เพราะ " กรรมนั้นมีผลเผ็ดร้อนมีทุกข์มาก กรรมดีนั้นมีผลเย็นสงบผ่องใส " เป็นที่ชื่นชม
เป็นที่เชิดชูของสัตบุรุษ ย่อมเชิดชูบุคคลผู้เป็นคนดีนั้นด้วยใจจริง
กรรมประกอบไปด้วย ๓ ทาง ทางหนึ่งเรียกว่าทางกาย ทางที่สองเรียกว่าทางวาจา ทางที่สามเรียกว่าทางใจ
ทางกายคือการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมีย ดื่มเสพของมึนเมา
ทางวาจา การพูดเท็จ พูดสอดเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจอ
การกระทำทางใจ มีความโลภอยากได้ของผู้อื่นเขา มีความเพ่งโทษโกรธขัดเคือง คิดประทุษร้ายคนอื่นเขา มีความโกรธ
เห็นผิดไปจากทำนองครองธรรม เช่น ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป บาปบุญไม่มี สวรรค์นรกไม่มี นิพพานไม่มีจริง
บุญคุณพ่อแม่ไม่มีจริง บูญครูบาอาจารย์ไม่มีจริง ตายแล้วสูญ ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วหมดเวรหมดกรรม อย่างนี้เรียกว่า มีความสำคัญผิด มีความเห็นผิดไปจากทำนองครองธรรม การกระทำทั้งสามอย่างนี้แหละเวียนกลับมาเป็นสมบัติของพวกเรา
ผู้กระทำทุกท่านทุกคน จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ตาม ก็ต้องชดใช้ สิ่งเหล่านั้น จะต้องรับชะตากรรมอันนั้น
เพราะเป็นผลของพวกเราที่กระทำไว้ กรรมเหล่านี้ทำให้บังเกิดมีกายขึ้นมา
" กายซ้อนซ้ำซากจำเจเป็นวัฏฏะ "
กายซ้อน คือ การนำจิตของเรามาอาศัยร่างกายแล้ว และก็อาสัยร่างกายอีก ตายเกิด ๆ ซ้ำซากจำเจ จิตซ้อนกายใน จิตซ้อนกายนอกอยู่
กายบังจิตไว้มองไม่เห็นความจริง เมื่อเรามองไม่เห็นความจริงเราจึงหลง หลงในสิ่งผิด ๆ หลงสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน
เพราะความหลงจึงต้องวนเวียนวายอยู่ในวัฏสงสารไม่มีจุดจบ วัฏฏะประกอบด้วย ๓ ประการ
มี กิเลสวัฎฎ์ ๑ กัมมวัฏฏ์ ๑ วิปากวัฏฏ์ ๑ คือบุคคลมีกิเลสสร้างกรรม เมื่อสร้างกรรมแล้วจึงเกิดวิบากผลของมันที่เราจะได้รับที่เรียกว่า
วัฏฏะ เวียนกันอย่างนี้ พึงให้เข้าใจ กายซ้อนซ้ำซากจำเจเป็นวัฏฏะ เราหลงอยู่ที่กายนี้เอง พึงกันพิจารณา
ขออนุญาตุขยายความในเรื่องของ สังสารวัฏฏ์ ๓ อย่าง ที่องค์หลวงพ่อได้แสดงไว้
เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจเป็นเบื้องต้น 3 คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์
กิเลสวัฏฏ์ เกิดขึ้นวนเวียนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจและสั่งสมสันดานสืบต่อเป็นเหตุให้กระทำ
กัมมวัฏฏ์ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ทางกาย วาจา ใจ
กัมมวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิด วิปากวัฏฏ์ และเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้นก็ไม่ปราศจาก กิเลสวัฏฏ์ อีก
เพราะยังมีความยินดี ยินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางใจ เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง กุศลกรรมบ้าง
อกุศลกรรมและกุศลกรรมนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิตและกุศลวิบาก
จิต ไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัญญาไม่ได้อบรมจนเจริญคมกล้า สามารถประจักษ์
แจ้งอริยสัจจธรรมสังสารวัฏฏ์ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และ วิปากวัฏฏ์
ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนไปเรื่อย ๆ
หรืออีกในหนึ่งของวงจรปฏิจจสมุปบาท
ไตรวัฏฏ์ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป
ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
เรียกเต็มว่า
๑. กิเลสวัฏ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กรรมวัฏ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
๓. วิปากวัฏ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา
ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
ที่มา : http://www.buaplinor.com/webboard/index.php?topic=1023.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น